วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พินิจมนุษย์สนทนา

อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังคำพูด อันที่จริงทั้งอยู่คนเดียวและอยู่กับผู้อื่นต้องระวังทั้งความคิดและคำพูด ทั้งสองสอดประสานกันและใช้สิ่งเดียวกันเป็นสื่อ คือ ถ้อยคำ เราคิดเป็นถ้อยคำ เราพูดเป็นถ้อยคำ ในเวลาที่เราตื่นอยู่ แทบจะไม่มีเวลาใดที่ไม่มีถ้อยคำในความสำนึกรู้ของเรา เราสนทนากับตัวเราเองอยู่เสมอ มีผู้ทำวิจัยว่าเราใช้ถ้อยคำกับตนเองในวันหนึ่งประมาณ 55,000 คำ (หนังสือ "คุณเปลี่ยนได้" อมิตา อริยอัชฌา ห้างหุ้นส่วนสามัญมันนี่แอนด์มอร์ กรุงเทพ กรกฎาคม 2552 หน้า 24) และถ้อยคำนั้นเป็นไปในทางลบ 77 % (หรือ สี่หมื่นสองพันสามร้อยห้าสิบคำ) หากเราสนทนากับตัวเองด้วยถ้อยคำลบแล้ว การสนทนากับคนอื่นนั้นจะเป็นทำนองเดียวกันหรือไม่ สิ่งที่เราสนทนากับตนเองจะฝังอยู่ในเราและสะท้อนออกมาเมื่อได้จังหวะและเวลาใช่ไหม
ความคิดของเราวนเวียนอยู่กับถ้อยคำเหล่านั้น ในสำนึกเราอาจบอกว่าเราไม่ชอบสิ่งเหล่านี้เลย ไม่ชอบที่จะคิดลบเราคิดเรื่องดีๆ เสมอ ลองสังเกตุดู เมื่อเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมเราจะไม่หลุดออกจากสิ่งที่เป็นเรื่องดีๆ แต่เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาเราอดที่จะโกรธไม่ได้ ทั้งที่เราว่าเราปฏิบัติธรรมยึดคำสอนของพระท่านที่ว่า "เหตุสมควรโกรธ...ไม่มีในโลก" (Webpage "เหตุสมควรโกรธ… ไม่มีในโลก" พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก วัดสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี http://www.km.egat.co.th/blog/?q=node/61) แต่เราโกรธไปแล้วพึ่งนึกได้ทุกครั้ง
บางครั้งในความดีก็มีความไม่ดีอยู่ ในการคิดบวกก็มีการคิดลบอยู่ มันเป็นของคู่กันเป็นธรรมดาโลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น หากเรายังติดกับดักความดีและไม่ดี บวกและลบ... เราเพียงก้าวย่างบนทางขนานที่เชื่อมกันอยู่ เมื่อใดที่เราก้าวออกจากการตัดสินว่า ดี ไม่ดี บวก ลบ  เราจะผ่านออกมาจากการตัดสินนั้น ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เข้ามาในพื้นที่เพื่อเรียนรู้โดยไม่ตัดสิน ไม่ดูถูกดูแคลนสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาให้บทเรียนกับเรา และสำคัญอย่างยิ่งเราไม่กลัวที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพราะดีหรือไม่ดี บวกหรือลบ ชอบหรือชัง กล้าหรือกลัว
คุณชอบดูละครไหม ในละครมีการสนทนามากมายหลายแบบ แบบต่างๆ นั้นเป็นการสนทนาของมนุษย์ที่มีมาช้านานแล้ว ละครและชีวิตจริงก็ไม่ต่างกัน คุณเองก็สนทนาอยู่เสมอในแบบต่างๆ กับคนต่างๆ  แม้บางครั้งไม่ได้สนทนาเองคุณก็เป็นผู้ดูการสนทนา คุณเคยดูการสนทนาที่ฟังไม่รู้เรื่องในถ้อยคำไหม ลองดูละครต่างประเทศของประเทศที่คุณไม่เข้าใจถ้อยคำและไม่มีคำบรรยายในถ้อยคำของคุณ ไม่มีบริบทที่คุณคุ้นเคย โปรดเฝ้าดูคุณเห็นอารมณ์ความรู้สึกไหม โปรดดูตนเองเมื่อคุณไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับละครที่ดำเนินอยู่นั้น ละครที่สื่อด้วยถ้อยคำจะสื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คุณได้ไหม ความว่างเปล่าเมื่อไม่เข้าใจถ้าคุณตั้งใจสังเกตุตัวตนของคุณ คุณจะเรียนรู้ได้มากขึ้นเมื่อพื้นที่เปิดและคุณกระหายที่จะเข้าใจมัน ทีนี้คุณลองกลับมาดูการสนทนาในแบบที่เป็นภาษาของคุณ ด้วยถ้อยคำที่เป็นสิ่งที่คุณรับฟังในภาษาของคุณ แต่คุณกลับอุทานว่า"พูดอะไรนะ ไม่รู้เรื่อง" ทำไมเป็นเช่นนั้น คุณเข้าใจในภาษานั้นแต่คุณกลับปฏิเสธมัน เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์เช่นนี้ มันเกิดเพราะพื้นที่ไม่เปิด ถ้อยคำที่ไม่ต้องการไม่มีพื้นที่ที่จะงอกงามได้ คุณเลือกที่จะฟังในสิ่งที่ต้องการ แต่ถ้อยคำนั้นไม่มาถึง สิ่งที่มาถึงจึงไม่ถูกเข้าใจ
บางครั้งในบางบริบทที่ต่างกัน คุณเป็นนายเขาเป็นลูกน้อง ลองย้อนไปในประสบการณ์ที่คุณผ่านมา การสนทนาที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ปรารถนาจะเข้าใจกันต่างคนต่างอยู่ในกรอบของตน คุณลองกลับบทบาทดูคุณเป็นลูกน้องเขา(อีกคน)เป็นนาย การสนทนาที่ไม่เท่าเทียมกันในความตระหนักรู้ย่อมดำเนินไปบนความไม่เข้าใจกัน ปัญหาของมนุษย์สนทนานั้นมีอีกมากมายหลายประการ การตีความตามประสบการณ์ตน การฟังอย่างไม่เห็นบริบท การจัดพวกแบ่งแยกกลุ่ม การดูถูกความคิดและถ้อยคำ การต่างความเชื่อ การต่างระดับของถ้อยคำในภาษาเดียวกัน การกลัวสิ่งที่จะตามมาหลังการสนทนา การปกปิดบางประการและอื่นๆ อีก สิ่งเหล่านี้ต้องการปัญญาแห่งความรักและเมตตา ที่จะสานการสนทนาของมนุษย์เข้าด้วยกัน
คุณเคยเข้าประชุมใช่ไหม เป็นการประชุมในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น เพื่อระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือทำสิ่งสร้างสรรค์ เพื่อแจ้งให้ทราบ หรือเพื่ออะไรอีกหลายประการ การประชุมเป็นพื้นที่สนทนากันในหลายแบบ ในพื้นที่สนทนานั้นคุณมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด คุณผ่อนคลายหรือคับเครียด คุณมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรืออะไรผลักดันให้คุณแสดงความคิดเห็นนั้น มันเป็นพื้นที่สนทนาที่คุณต้องการเข้าร่วมหรือจำเป็นต้องเข้าร่วม






ในการดำรงชีวิตประจำวันการสนทนาเป็นพื้นฐานในการที่มนุษย์ใช้ติดต่อกัน แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี หรือสิ่งใดๆ ที่มนุษย์ปลูกฝังกันมา ปลูกฝังไว้ตั้งแต่ปฐมวัย ผ่านมัธยมวัย จนเข้าปัจฉิมวัย ความเข้าไปยึดถือที่ต่างกันทำให้เราแยกตนออกจากกัน ออกจากคนที่ยึดถือต่างกัน ศาสนาที่เริ่มจากศาสดาเดียวผ่านกาลเวลาไปยังไม่คงทนตั้งอยู่ได้แบ่งเป็นนิกายต่างๆ และบ้างก็ผิดเพี้ยนไปเกิดเป็นศาสนาใหม่ขึ้น ความเชื่อที่เหมือนกันทำให้ความคิดเชื่องและการกระทำเชื่อมกัน ในทำนองเดียวกันความเชื่อที่ต่างกันทำให้เราแยกออกจากกัน เชื่อต่างคิดต่างทำต่างกันออกไป ความขัดแย้งดำเนินไปบนความเชื่อที่มาจากใจ
การสนทนากันก็มาจากใจ มีคำกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่ออกจากปากล้วนออกจากใจ" แต่เรายังคงได้ยินคำว่า "ปากไม่ตรงกับใจ" อันนี้ถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่า คำกล่าวที่ไม่ตรงกับความคิดนั้นถูกปั้นแต่งจากความคิดเช่นกันและเป็นความคิดที่มีใจกำกับอยู่ กำกับให้การสนทนาไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ ทำให้การรับรู้ผิดเพี้ยนไป มีข้ออ้างมากมาย เช่น กลัวเขาจะเสียใจ กลัวจะเกิดอันตราย กลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ เรื่องนี้รู้เพียงบางส่วนก็พอไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด สิ่งภายนอกสร้างเสียงภายในและเสียงภายในเหล่านี้นำพาความคิดไปสู่กับดักแห่งการแบ่งแยกไม่รวมกันได้ บ่อยครั้งที่เมื่อเวลาผ่านไปความกังวลความกลัวถูกพิสูจน์ว่ามันไม่จริงตามความคิดแต่การกระทำทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วทำคืนไม่ได้ ถ้าเราสังเกตุ สังเกตุ สังเกตุ เราจะเรียนรู้เมื่อเราเรียนรู้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้น
เราจะเห็นกลไกการป้องกันของเราตราบที่เรายังไม่เปิดพื้นที่ พื้นที่ที่สิ่งต่างๆ จะเข้ามาโดยไม่มีการต่อต้านป้องกัน พื้นที่ที่ผ่อนคลายผัสสะทั้งหลายดำเนินไปความแตกต่างก้าวเข้ามาให้เราสัมผัสโดยไม่แบ่งแยกรังเกียจเหยียดหยามหรือกลัว เราจะรู้ถึงประโยชน์และโทษของสิ่งต่างๆ เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันไม่กังวลสิ่งที่ผ่านมาหรือยังมาไม่ถึง ผ่อนคลายรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ติดกับดักของกรอบความคิดของเราหรือผู้อื่น เราจะเชื่อมต่อกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาหาเราอย่างถึงพร้อมเมื่อนั้นเราจะเห็นสิ่งใหม่ผุดบังเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะสามารถนำไปทำต่อเราจะรู้วิธีการต่างๆ ที่มาถึงอย่างแปลกปลาดเรายกระดับปัญญาของเราด้วยอาการเช่นนี้
ท่ามกลางความแตกต่างของสรรพสิ่งและผู้คน เราตระหนักว่าฐานของความต้องการของมนุษย์มีทั้งแตกต่างและเหมือนกัน ถ้าเราต้องการให้เหมือนกันต้องเริ่มจากสิ่งที่เหมือน มนุษย์ต้องการ คนรัก เข้าใจ และยอมรับ เราทุกคนต้องการอย่างนั้น
เมื่อเราต้องการสนทนาให้เป็นหนึ่งเดียวไม่ว่าจะสนทนาคนเดียว(คิด) หรือสนทนาสองคนหรือมากกว่านั้น เราควรเริ่มจากการยอมรับกันอย่างเท่าเทียมกัน อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่คู่สนทนานำมาไม่นำความคิดเราไปทาบทอตัดสินดูถูกหรือกลัว ในการสนทนาเราต้องช่วยกันเพื่อจะได้รับฟังสิ่งทั้งหมดที่นำมาเสนอในการสนทนาเราควรเปิดพื้นที่เพื่อให้ถ้อยคำความคิดได้หลั่งไหลพรั่งพรูได้โดยไม่ติดขัด และรวมทั้งเฝ้าดูความคิดที่เกิดขึ้นของเราไม่ให้ไปขัดขวางและจับความคิดที่ผุดบังเกิดในทางสร้างสรรค์ให้ได้ เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งเราต้องให้เวลา กับการสนทนาคู่สนทนากลุ่มสนทนา ความเร็วในการสนทนาต้องช้าลง แม้ว่ามันจะเงียบงันบ้างในบางครั้งเราต้องไม่กลัวความเงียบที่จะเกิดขึ้น มันเป็นการปกติที่เราจะไตร่ตรองไปพร้อมๆ กันทั้งกลุ่ม เพื่อเราจะได้ลงลึกต่อไป แม้ว่าบางครั้งมันจะยุ่งยากสับสน แต่มันจะกลับเข้าที่การสนทนาโดยตัวมันเองจะจัดระเบียบให้เกิดขึ้นได้เมื่อเวลามันผ่านไป เราต้องเข้าใจด้วยว่า เวลา คือส่วนประกอบด้วยความอดทน รอคอยได้ บนพื้นฐานความรักและเมตตา ปัญญาระดับที่เหนือกว่าปัญญาที่สร้างปัญหาจะมาถึงด้วยวิถีทางและกระบวนการเช่นนี้ เพราะ"การสนทนานั้นเป็นวิถีทางอันเป็นธรรมชาติ ที่มนุษย์จะใช้ในการคิดร่วมกัน"(turning to one another : simple conversations to restore hope to the future margaret j. wheatley, 2002 Berrett-Koehler Publishers, INC. San Francisco หันหน้าเข้าหากันแนะนำโดย ปรมาจารย์วิสิษฐ์ วังวิญญู http://www.km.egat.co.th/blog/?q=node/5)
การสนทนาเป็นทักษะไม่ใช่ความรู้ ท่องจำไว้แต่ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องฝึกฝน เมื่อเรากำหนดรู้สังเกตุ ทำให้ช้าลง ดำรงความอยากรู้ เปิดพื้นที่ สลายกรอบ รับรู้ทุกสิ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข สงบเงียบไตร่ตรอง ทำบ่อยๆ พัฒนาการแห่งทักษะจะหมุนวนไปจากระบบสู่อัตโนมัติ บนพื้นฐานของปัญญาแห่งมนุษยชาติ จงเชื่อมั่นในปัญญาแห่งมนุษยชาติ ปัญญาแห่งความรักและเมตตา ผ่อนคลายเป็นอิสระและเรียนรู้ตราบเท่าที่เรายังมีกำลัง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น