วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความแตกต่างและความสัมพันธ์

คุณเชื่อในความแตกต่างที่สัมพันธ์กันอย่างลงตัวหรือไม่ 
เรามักเห็นความแตกต่างและขยายความแตกต่างนั้นด้วยกรอบของความคิดของเรา หากเราเชื่อมั่นในความเป็นไปของแต่ละบุคคล เชื่อมั่นว่าเขามีเป้าประสงค์ในการเกิดมาที่ต่างกัน มีวิถีทางในการดำรงอยู่ที่แตกต่างกัน ด้วยความเมตตาที่ดำรงอยู่ในตัวของเราท่ามกลางกาลเวลาที่ประกอบด้วยความอดทนรอคอยได้ และเรามุ่งที่จะสัมพันธ์กับเขาเหล่านั้น ปัญญาของความเมตตาจะนำเราสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่มีเงื่อนไขได้ 
ความแตกต่างของคนเราถูกสังเกตุมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว บางความเชื่อแบ่งคนเราตามวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด วันมีเจ็ด เดือนมีสิบสอง ปีมีสิบสอง ถ้าเราเอาทั้งหมดคูณกัน เราจะเห็นความแตกต่างของคนอีกหนึ่งพันแปดร้อยประการ ซึ่งคงจะยากที่จะจดจำได้หมด บางความเชื่อแบ่งคนเป็นเก้าลักษณะ และมีลักษณะรองอีกสองประการตามแต่สิ่งแวดล้อมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป (นพลักษณ์) บางความเชื่อแบ่งคนเป็นหกประการ (จริตหก) อินเดียนแดงแบ่งคนเป็นสี่ประเภทโดยเปรียบเทียบกับสัตว์สี่ชนิด  กระทิง อินทรี หนู หมี ซึ่งอยู่ตามทิศต่างกัน เหนือ ออก ใต้ ตก หรือ หยินหยางคือการแบ่งกันเป็นสองจำพวกใหญ่ การแบ่งต่างๆ กันตามความเชื่อหลายแบบนี้ มีขึ้นเพื่อให้เราเข้าใจความแตกต่างเพื่อจัดวางความสัมพันธ์ที่ดีบนความแตกต่างนั้น เช่น หยินหยาง นั้นหากเราสังเกตุดูจะเห็นว่ามีจุดดำในพื้นขาวและจุดขาวในพื้นดำ นั่นคือความพยายามบอกไว้ว่า ในอ่อนมีแข็ง ในแข็งมีอ่อน ในดำมีขาว ในขาวมีดำ ความแตกต่างมีความสัมพันธ์กันและกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก http://jiradino.blogspot.com/2011/07/blog-post_5677.html
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน คือความสัมพันธ์ระหว่างคนที่แตกต่างกัน ด้วยเข้าใจว่าเราเป็นอย่างไร และเขาเป็นอย่างไร ความเข้าใจเริ่มจากการเข้าใจตัวเราเองก่อน ว่าเราเป็นใคร คนอื่นมองเราอย่างไร ความเข้าใจตัวเราเกิดจากการสังเกตุตนเอง มีความสัมพันธ์กับตนเองตามความเป็นเราที่แท้จริงไม่ใช่เราที่มุ่งหวังให้คนอื่นเข้าใจ แล้วบนกรอบที่แตกต่างกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน เราสัมพันธ์กับตัวเราได้อย่างเป็นมิตรกับตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับตัวเอง เราสานสัมพันธ์กับตัวเราได้ในภาวะต่างๆ ในอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะกดดัน ภาวะผ่อนคลาย และภาวะธรรมดา เราจัดวางความสัมพันธ์ของเราได้อย่างเหมาะสมกับอารมณ์ตนเอง
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.visalo.org/book/penmitr.htm
จากกรอบของเราที่ทำได้ตามสภาวะของความเป็นจริง เราจึงขยายกรอบของเราออกเพื่อเข้าใจผู้อื่น เข้าใจได้โดยเปิดพื้นที่ให้ความเป็นคนอื่นได้โลดแล่นในกรอบของเรา เมื่อกรอบเปิดกว้างจนไม่มีอณาเขตเราจะได้เรียนรู้และไร้กรอบไร้รูปแบบ ความสัมพันธ์บนพื้นที่ที่เปิดกว้างโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยสติรู้ตัวทั่วพร้อม การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการเปิดพื้นที่ให้ผัสสะได้ทำงาน อายตนะทั้งหลายในและนอกได้เจริญขึ้นด้วยการเรียนรู้จากผัสสะที่ได้รับ สัญญาอารมณ์ต่างๆ เผยตัวของมันออกคลี่คลุมพื้นที่เรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในทางที่ดีตามมา การจัดวางความสัมพันธ์ที่เหมาะสมได้เกิดขึ้นจากปัญญาแห่งการเปิดเผยตัวตน บนสติรู้ตัวทั่วพร้อม ปัญญาแห่งธรรมชาติย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เกื้อกูล เป็นประโยชน์ เราเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ในความแตกต่างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน
เมื่อสัมพันธ์ของความแตกต่างดำเนินไปในครรลองของมัน สังฆะ ความเป็นหนึ่งเดียวของความแตกต่างหมุนวน การสนทนาเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เกลียวการเรียนรู้สั่นสะเทือนความคิดร่วม เหนี่ยวนำปัญญาร่วมเกิดขึ้น พลังแห่งความเป็นหนึ่งเดียวเลื่อนไหล ความเป็นไปในทุกคนที่เข้าใจในสิ่งเดียวกัน เห็นภาพใหญ่ภาพรวมทั้งหมดที่ปัญญาร่วมสร้างขึ้น ต่างคนต่างเข้าใจความแตกต่างและลงมือปฏิบัติตามหน้าที่ที่แตกต่างกัน บนความสามารถที่แตกต่างกัน ความแตกต่างทั้งหมดจึงเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นทางเดียวที่ดำเนินไปด้วยความสอดคล้อง เกื้อกูล และมีพลัง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น