วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การวัดและประเมินผล

ถ้าเราให้คนอื่นมาดู(วัดเรา) ใช้วิธีของเขา(เป็นมาตรฐาน) มันจะไม่เห็นสิ่งที่เราทำ เราทำอย่างไรเรารู้ของเราและเราวัดตัวเราได้ เราต้องออกแบบวิธีวัดของเราเอง 
ความคิดที่ข้างต้นเป็นความคิดที่ท้าทายมาก

การทำบนสมมุติฐานหนึ่งเมื่อมีผลแล้วใช้อีกสมมุติฐานหนึ่งมาวัดและประเมินทำได้หรือไม่

คงไม่มีคำตอบสำเร็จ

ในทางนโยบายแล้วทำได้เพราะผู้คุมนโยบายเป็นผู้วัด สิ่งที่วัดนั้นมุ่งไปในทางที่เชื่อความเป็นกลางของมาตรฐาน(มาตรฐานคือต่ำสุดที่ต้องการและควรจะเป็น)ใช้สำหรับดูภาพรวมเพื่อปรับปรุง

แต่ในทางปฏิบัติหากเราเชื่อว่าเราเหนือมาตรฐาน เราก็ทำอะไรเหนือมาตรฐาน สร้างเอง เชื่อของเราเองและบรรเจิดไปบนทางของเรา ชื่นชมกันเอง มันคล้ายอะไรรู้ไหม มันเหมือนเราคือจักรวาล ครอบรอบทุกสรรพสิ่งและสิ่งที่พบอยู่ในจักรวาลของเราที่เราอธิบายได้เหนือกว่า เราสร้างความเชื่อมั่นนั้นแล้วด้วยจินตนาการบนฐานคิดของเราเรามุ่งไปโดยหวังครอบรอบความเป็นอยู่ที่มีและสัมผัสได้

หากเราตอบสิ่งที่เราคิดได้คือเราเห็นสิ่งที่เราทำ เรารู้ด้วยการวัดตัวเรา นั่นคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันประกอบด้วยความเชื่อมั่น ความพยายาม ความระลึกรู้ ความเป็นหนึ่งเดียวและความรู้รอบตามจริง (พุทธศาสนา เรียกสิ่งนี้ว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งพัฒนาถึงขีดสุดคือความว่าง)

ในทางยุทธศาสตร์แล้วทำได้ สิ่งที่ไปก่อนย่อมครอบครองพื้นที่ได้มากและบางครั้งทั้งหมด(ISO ทั้งหลายก็เช่นกัน) ยุทธศาสตร์คือภายนอกภายในและการได้เปรียบในการตัดสินและทำ(ให้คนอื่นทำ)

ด้วยระดับการวัดที่มนุษย์มีทุกวันนี้ไม่สามารถวัดทุกสิ่งที่ปรารถนาได้ แต่มนุษย์วัดสิ่งที่ไม่ปรารถนาได้ดีมาก ด้วยระดับการวัดดังนี้ เหตุผล ความรู้สึก และร่างกาย วัดเพื่อจะปฏิเสธ กับวัดเพื่อจะยอมรับ และวัดเพียงแค่เพื่อที่จะวัด บางครั้งวัดเพื่อให้ตนเจ็บช้ำไม่ใช่วัดเพื่อสร้างสรรค์(ลองทบทวนตัวเองดูได้นะครับ)

เมื่อเราทำบางอย่างเราจะเพลิดเพลิน และถ้าเราดื่มด่ำกับมัน ต่อไปเราจะพร่ำถึงมัน การตัดสินก็เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเป็นผู้ประเมินเราไม่ควร เพลิดเพลิน ดื่มด่ำ และพร่ำถึง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตกจมอยู่กับความยึดถือ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างอื่นไม่ใช่ ตราบใดที่ความรู้ไหลไป คนมีความสุข นั่นคือยอดปรารถนา แล้วเราจะวัดหาอะไรในสิ่งที่เราจะไปกำหนดไม่ได้ เราเอาแผนแม่บทมากางเพื่อจะยืนยันความพยายาม ความคิด และความต้องการ(แผนจะแฝงไว้ด้วยสิ่งนี้เสมอ)ของอนาคตที่หวังไว้ในอดีต

โปรดอย่างลืมว่าเราวัดเพื่อพัฒนา นั่นหมายความว่า ศึกษาปัจจุบันเพื่อบีบบังคับอนาคต บนความเป็นไป(สุขหรือเจ็บช้ำ)ของอดีตที่แก้ไม่ได้แต่เรียนรู้ได้
ความท้าทายดั่งนี้นำพาให้โลกเจริญ พัฒนาไปโดยไม่เพลิดเพลิน ดื่มด่ำ และพร่ำถึงอดีต เรารู้ด้วยการวัดตัวเรา นั่นคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันประกอบด้วยความเชื่อมั่น ความพยายาม ความระลึกรู้ ความเป็นหนึ่งเดียวและความรู้รอบตามจริง

2 ความคิดเห็น:

  1. ที่ทำงาน กะลังง่วนกะการวัดเชียว
    ขอบคุณมากค่ะ ที่กระตุกให้ฉุกคิด

    แตน รฟม.
    ........
    ปล. เสียดายที่พี่ไม่อยู่ใน คยส.... ในภาวะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเช่นนี้ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณที่แวะมา
    การวัดเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำครับ
    ตุ๊ดตู่ ร่าเริง
    ปล. คยส.และสิ่งทั้งหลายเป็นพลวัตร (Dynamic) เคลื่อนไปเพื่อดำรงอยู่ ภาวะเดิมจะมีแต่เสื่อมลง คยส. ก็จะพัฒนาไปครับ

    ตอบลบ