เราทุกคนแทบจะไม่ว่างจากความคิดเลย ไม่ว่ายามหลับ หรือยามตื่น
น่าประหลาดใจนะ ว่าความคิดมาจากไหน เราเกิดมาพร้อมกับประจุความคิดใช่หรือไม่ แล้วความคิดอยู่ที่ไหนในส่วนไหนของเรา
... "วิญญาณนั้นเมื่อไปในตัวมนุษย์แล้วก็มีสำนักอยู่ในมันสมอง แลพิจารณากายภายนอกจากสำนักนั้น"...
(คำรับสั่ง พระวิกรมาทิตย์ จากหนังสือ นิทานเวตาล -- กรุงเทพ : บันทึกสยาม 2543 หน้า 221)
แล้วความคิดเป็นไปตามอัตโนมัติ หรือเป็นไปตามที่เราฝึกฝนทำมันขึ้นมา
เราเกิดมาเราจำความได้ตั้งแต่เมื่อใด ความตอนเด็กๆ เราจำได้เองหรือจำจากที่แม่ พ่อ ญาติ พี่น้อง เล่าให้ฟัง ความจำเหล่านั้นสร้างความยินดีหรือความเจ็บปวด แล้วเรายึดติดกับความยินดีหรือความเจ็บปวดนั้น เมื่อเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมมาถึงอีกครั้งหนึ่งเราเรียกความจำเหล่านั้นมาใช้หรือไม่ การยินดีทำให้เราผลิตซ้ำเหตุการณ์น้้น และความเจ็บปวดทำให้เราป้องกันและปิดกั้น อย่างนั้นหรือไม่ เราคิดและตัดสินใจทำอย่างนั้นได้อย่างไร ทำไมเราคิดอย่างนั้น
เมื่อเราดำรงชีวิตอยู่ในโลก อยู่ในครอบครัว อยู่ในโรงเรียน อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม การคิดของเราถูกสั่งสมมาจากสัมผัสต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ ก่อตัวเป็นวิธีคิดของเรา วิธีคิดที่เป็นแบบเรา ไม่เหมือนใครในโลก และใครในโลกนี้ไม่ได้มีองค์ประกอบอย่างเราก็คิดต่างกัน ทำให้การตัดสินใจ และการกระทำของคนจึงไม่เหมือนกัน
ในสังคมไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน สังคมอื่นๆ เราต้องคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน จึงดำรงอยู่ได้ในโลกที่เป็นจริงอย่างไม่ขัดแย้ง กรอบ ระบบ มุมมอง ถูกสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมามากมาย แล้วด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจึงมักเห็นสิ่งที่ผ่านการผลิตซ้ำของทฤษฎี กฏเกณฑ์ ได้รับการยกย่องมากกว่า ประสพการณ์ จินตนาการ และความกล้า เราเรียกวิธีที่ผ่านการผลิตซ้ำนี้ว่าวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือความคิดอย่างเป็นระบบ หรือ ความคิดสร้างสรรค์ หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามมันเป็นความคิดโดยแท้
ความคิดสร้างสรรค์ ของคนในอดีตนำพาประวัติของมนุษยชาติมาจนมีอะไรมากมายในทุกวันนี้ แต่ความคิดที่มาจากฐานรากของคนในแต่ละถิ่นก็ต่างกัน เราสร้างสรรค์กันคนละแบบ ดังนั้นไม่ว่าจะนิยามใดศึกษาแบบใดก็ต่างกันไปบนสมมุติฐานของแต่ละการศึกษานั้น ความคิดสร้างสรรค์บางอย่างก็สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสังคมโลกนี้ จากสังคมเกษตรกรรม ผ่านอุตสาหกรรม มายังเทคโนโลยีสื่อสาร และมีคนบอกว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมอุดมปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติไม่เคยหยุดนิ่งสร้างสิ่งรับใช้เราตลอดมา แต่เราก็คิดมันจากวิธีที่ต่างกัน
แนวคิดต่อคำว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ของอังกฤษ (และชาติตะวันตก) กับของจีน (และชาติตะวันออก) ต่างกันตรงที่โลกตะวันตกมักให้คุณค่ากับอิสรภาพและการแสดงออกทางความคิดของ ปัจเจกชน (เห็นได้จากปรัชญายุคกรีกเรื่อยมาจนถึง Existentialism ของ Jean-Paul Sartre) ขณะที่โลกตะวันออก (ซึ่งมีพื้นฐานสังคมแบบเกษตรกรรมมักให้คุณค่ากับความสามัคคีและการพึ่งพา อาศัย เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ)| อ้างอิงจาก จีนรู้ทัน ลอกฝรั่งทั้งดุ้นไม่เวิร์ค : เน้นพัฒนา “ความคิดสร้างสรรค์แบบกลุ่ม” (Collective Creativity) ประยุกต์เป็นยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจชาติ http://www.tcdcconnect.com/content/detail.php?ID=3702&sphrase_id=169418|
ประดิษฐกรรมเกี่ยวกับความคิดมีมากมายหลายแบบสิ่งต่างๆ ที่เราใช้อยู่เป็นประดิษฐกรรมเกี่ยวกับความคิดทั้งสิ้น ภาษา อักษร เครื่องมือ เครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ
ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเป็นระบบ คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีผู้คิดค้นให้เราฝึกฝนมากมาย แล้วจริงๆ มันมาจากการฝึกฝนหรือเป็นอัตโนมัติ พากเพียรหรือผุดบังเกิด พรแสวงหรือพรสวรค์ เวลาเราคิดร่วมกัน เราคิดได้อย่างไร
คนตะวันออกและคนตะวันตกคิดแตกต่างกัน คนตะวันออกในแต่ละที่ก็คิดแตกต่างกัน คนในที่เดียวกันคนละวัยก็คิดแตกต่างกัน คนวัยเดียวกันคนละเพศ คนละฐานะ คนละอาชีพ คนละสังคม ก็คิดแตกต่างกันดูเหมือนแม้มีวิธีเดียวกัน ศึกษาเล่าเรียนมาพร้อมกัน เวลาคิดร่วมกันก็ยังมีความแตกต่างกัน
แม้แต่ครอบครัวที่มีชีวิตอยู่ร่วมกัน ยังคิดไม่เหมือนกัน การคิดร่วมกันไม่ได้เป็นระบบหรือเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริง เท่าที่นักคิดทั้งหลายบัญญัติขึ้น ยังคงเป็นไปตามใครตามมัน แบบอย่างของใครของมัน
เมื่อเรามาทำงานร่วมกัน งานในแต่ละยุคสมัย แต่ละช่วงเวลาก็เปลี่ยนไป งานผันแปรตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน ความรักในการทำงานลงมือลงแรงลงความคิดในงานก็เปลี่ยนไปด้วย องค์กรที่ทันสมัยวางระบบต่างๆ ไว้เพียบพร้อมคนที่เข้ามาทำงานยุคอุตสาหกรรมแรกเริ่มแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในความคิดแต่ใช้แรงงานในการทำเท่านั้นเมื่อระบบ เครื่องจักรเริ่มเสื่อม เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก องค์กรปรับไม่ทัน หันรีหันขวางไปมาทางที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ได้เร็วก็ต้องพึ่งคนที่รู้จักงานที่ทำและมีความคิดปรับปรุงงานของเขาให้มีคุณภาพ เขาทำงานได้สบายขึ้น คนทำงานจึงมีความหมายขึ้นมากในการนำเข้าเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จากเดิมประสพการณ์ จินตนาการ และความกล้าที่ได้นำมาใช้ในการทำงานจึงต้องพัฒนามาเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อการปรับปรุงงาน
ความคิดอย่างเป็นระบบของการปรับปรุงงาน มีหลายค่ายหลายสำนัก หลายตัววัด หลายแนวทางแต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไรคนที่ทำงานคิดอย่างไร หากคนทำงานคิดจะปรับปรุงแล้วคนทำงานน้้นจะได้หาหนทางเอง และไม่เกินความสามารถในการค้นคว้า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ
ฉายาว อนปายินี ฯ2ฯ
ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์
ความสุขย่อมติดตามเขา
เหมือนเงาติดตามตน
Mind forerunr all mental conditions,
Mind is chief,mind-made are they;
If one speaks or acts with a pure mind,
Then happiness follows him
Even as the shadow that never leaves
อันนี้เอามาจากความเห็นใน Facebook นะครับ
ตอบลบนายยุทธนา จุฑารัตน์ อาจารย์ครับ เริ่มต้นเป็นเรื่องความคิด การคิดเป็นระบบ การคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น สุดท้ายเป็นเรืองของใจ
ใจยิ่งใหญ่กว่าสรรพสิ่ง
เกริ่นเสียยาวหน่อย
ขออนุญาตด้วยความเคารพครับ
ผมยังสับสนหลายครั้งที่อ่านตำรา หรือ หนังสือธรรมะ
ระหว่างความคิด กับ ใจ มันแยกยังไง แยกตอนไหน
แล้วทำไมจึงมีคำถามว่า
"แล้วใจคุณ คิดยังไง"
เอ้า...ไปกันใหญ่เลย
อาจารย์ครับ มีวิธีบริหารความคิด หรือบริหารใจ อย่างไร ในช่วงอายุที่เกษียณมาใหม่ๆ บอกตรงๆ ผมยังมีอาการไม่นิ่งเลยครับ
ทุกวันนี้ ไปจิตอาสาที่โรงพยาบาล ก็ช่วยได้บ้าง แต่พอว่าง เอาอีกแล้ว ใจแกว่งไปที่เก่าอีกแล้ว
ทำไงให้ลืมๆ ไปซะบ้าง
ขอบคุณครับ มีความสุขนะครับอาจารย์
ต้องเรียนพี่ยุทธนะครับว่า คำถามของพี่มีความซับซ้อนในตัวคำถามเองอยู่
ลบผมอยากจะเรียบเรียงดังนี้นะครับ(เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ)
เริ่มจากคนมีความคิดไม่หยุดหลายแบบแล้วมาลงท้ายที่ใจ และตั้งคำถามที่ว่า "แล้วใจคุณ คิดยังไง" ตรงนี้คือใจกับความคิดต่างกันหรือเหมือนกัน หรือทำงานอย่างไร
และมีคำถามต่อมาว่า "บริหารความคิด หรือบริหารใจ อย่างไร" ในนั้นบอกอาการว่า "ใจแกว่งไปที่เก่าอีกแล้ว" คำถามคือ ทำอย่างไรให้ใจไม่ไปที่เก่า
คำถามต่อมาคือ "ทำไงให้ลืมๆ ไปซะบ้าง" หมายถึง ทำอย่างไรให้ไม่ต้องจำ
ผมขอสรุปความคิดตามที่เขียนไปใน blog นั้น ว่าผมเห็นว่าความคิดของคนเราไม่หยุดนิ่ง เราคิดไปต่างๆ นานา ผมจึงชวนให้ใช้ความคิดไปในทางสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ และสรุปว่าเราจะทำอย่างนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับใจของเรา (ในธรรมบทที่ยกมานั้นเป็นธรรมคู่แต่ผมยกมาเพียงบทเดียว อีกบทก่อนหน้านี้เป็นเรื่องใจที่คิดไม่ดีก็พาไปทำไม่ดีและต้องรับผลของกรรมไม่ดีนั้นเหมือนรอยเกวียนติดตามรอยโค)
สำหรับสิ่งที่เรียนรู้ด้วยกันนั้น ผมนำเสนออย่างนี้นะครับ ในคำถามมีจุดประสงค์อยู่ ถ้ารวมจุดประสงค์ของคำถามทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือ ใจกับความคิดต่างกันอย่างไร บริหารได้อย่างไรให้พ้นจากที่เก่า(ที่ที่จำได้หมายรู้:ตีความเองครับ)
ก่อนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทัศนะของผม ขอให้พื้นฐานความคิดของผมไว้ดังนี้ครับ ผมเชื่อว่า (ความเชื่อทำให้คนเราตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างตามความเชื่อของเรา ถ้าเปิดใจเราจะเห็นมุมมองในด้านของเขา) มนุษย์มีใจที่บริสุทธิ์ การอยู่ท่ามกลางสังคมทำให้ความบริสุทธิ์ของมนุษย์ ถูกฉาบทา พอกปิด ทำให้มองเห็นไม่ตรงความจริง มอง คิด ทำ ไปตามสมมุติที่สังคมสร้าง ผมเชื่อในนามรูป ผมเชื่อในการกระทำและผลของมัน
ต่อไปเป็นการแลกเปลี่ยนในคำถามที่ผมตีความไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับเรียนรู้ร่วมกันครับ
ใจกับความคิด ใจกับจิต เป็นเพียงภาษา อาศัยภาษาเพื่อละทิ้งภาษา ต่อไปนี้ผมจะขออาศัยภาษาเพื่อขยายความ ตามความเห็นของผม ใจนั้นบริสุทธิ์ จิตนั้นปรุงแต่งเป็นความคิดตามแต่ ประสพการณ์ จินตนาการ และความกล้าของเราที่สั่งสมมา ยิ่งสั่งสมมากยิ่งติดยึด
ด้วยความเชื่อที่ว่าความคิดกับใจต่างกัน ผมจึงเชื่อว่าการบริหารสองอย่างนี้ต้องใช้ชุดความรู้ที่ต่างกัน ผมขอนำเสนอมุมมองดังนี้ครับ เราอาจมองได้หลายมุม เช่น การบริหารความคิดควรมาหลังการบริหารใจเพราะความคิดเป็นผลผลิตของใจ หรือ การบริหารใจควรมาทีหลังการบริหารความคิดเพราะถ้าไม่บริหารความคิดจะไม่เกิดการบริหารใจ หรือ เราควรบริหารมันไปพร้อมกัน หรือ เราไม่ควรบริหารมันทั้งคู่เพียงแค่นั่งดูก็พอแล้ว การมีมุมมองหลายด้านนี้คือทัศนะที่มีต่อเรื่องความคิดและใจ หากเรามีมุมมองอย่างไร ใจและความคิดจะพยายามหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ มาให้ คติทางไปจึงตามมาจากมุมมองของเราต่อเรื่องนั้นๆ หากมุมมองพาไปทางใด ทางไปก็พาไปทางนั้นเช่นนั้นเองครับ
ทีนี้เราจะเห็น หรือมีมุมมองที่พาไปสู่จุดหมายได้อย่างไร หากดูความเชื่อของผมข้างต้นแล้วใจที่บริสุทธิ์ของมนุษย์จะอยู่กับเราต้องเอาสิ่ง ฉาบทา พอกปิด ของสังคมออก ลอกออกจากการห่อหุ้มใจที่บริสุทธิ์นั้น ต้องย้อนทวนสังคมและสิ่งที่เป็นความเชื่อของสังคมไปจนถึงจิตเดิมแท้อันบริสุทธิ์
ถึงตรงนี้ผมอยากจะชวนคิดและชวนทำต่อว่า ธรรมชาติของใจนั้นกวัดแกว่ง ต้องหาหลักให้จับจึงจะไม่กวัดแกว่งโลดแล่นไป ไปหาอดีตบ้างหาอนาคตบ้าง ใจเป็นนามคู่กับรูป ให้ใจจับรูปไว้เพื่อละรูป อาศัยความเป็นคู่ต่างที่อยู่ด้วยกัน ใจจับกายไว้ ใจรู้อยู่กับกาย อันนี้ต้องฝึกแบบต่อเนื่องยาวนานจนใจมีหลักไม่โลดแล่นไป ทีนี้พอระลึกถึงอดีต หรือกังวลในอนาคต เราก็จะมีหลักเมื่ออดีต หรืออนาคตผุดบังเกิดในใจเรารู้อยู่ก็จะแยกแยะได้ว่านี่อดีต นี่อนาคต ปัจจุบันมีเพียงผู้รู้อยู่ เราจะแยกแยะแจกแจงสิ่งกระทบได้ว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งที่มีนั้นล้วนเปลี่ยนแปรไปไม่คงทน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอะไรเป็นสาระให้ยึดถือ แต่เรียนรู้ได้ การเข้าไปยึดถือว่าไม่แปรเปลี่ยน ไม่ดับไป จึงไม่ใช่ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ยึดนั้นทำให้ผูกพันและคับแค้นอยู่ไม่ได้ กวัดแกว่งดิ้นรน
ทุกอย่างเป็นประโยชน์ได้เมื่อใช้มันตามสภาพความเป็นจริง ความจำในอดีตเป็นธรรมชาติ เราไม่ต้องลืมมัน แต่เรียนรู้มัน เป็นเจ้าของมัน
ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกันนะครับ ใจกวัดแกว่งก็หาหลักให้มันจับ ใจที่นิ่งมีพลัง ใจที่มีพลังสร้างความคิดตามความเป็นจริงตามที่มันเป็นไม่ยึดถือ ความคิดนั้นย่อมเป็นปัญญา อดีตและอนาคตมีไว้รู้อยู่เท่านั้นเอง
มีความสุขมากๆ ครับ
ด้วยจิตนอบน้อม
ตุ๊ดตู่ ร่าเริง
อันนี้เป็นตอนต่อเอามาจาก Facebook ครับ
ลบนายยุทธนา จุฑารัตน์ ขอบคุณมากครับอาจารย์ ได้รับความรู้จากการ ลปรร. และผมได้อ่านหนังสือของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง “เข็มทิศชีวิต” ได้มีแง่มุมนำมา ลปรร. กับอาจารย์ด้วย ซึ่งตามแนวคิดและประสบการณ์ของอาจารย์ฐิตินาถฯ นั้น จะเป็นเรื่อง จิตใจ ครับ อาจารย์มีความเห็นอย่างไร โปรดพิจารณา
ด้วยความนับถือครับ
1. ต้นไฟ
เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า มีแรงผลักพุ่งขึ้นมาในใจเรา ให้ทำสิ่งต่างๆ ความรู้สึก ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อนเบาบางในใจ ที่มีอยู่ตลอดเวลานี้เอง เป็นแรงผลักที่ทำให้เราพูด ทำ คิด อะไรอยู่ตลอดเวลา ด้วยหวังว่า ใจเราจะอิ่มเต็ม เมื่อได้สิ่งที่ถูกใจมาครอบครอง แต่ไม่ว่า จะหาอะไรมามากเพียงใด หลุมในใจก็ดูเหมือนจะไม่มีวันเต็ม ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า ต้นเหตุไฟที่ลุกไหม้ท่วมใจ นั้น มาจากไฟกองเล็กๆ ในใจเรา นั่นเอง
2. มีดปักใจ
เมื่อเราคอยเฝ้าสังเกตจิตใจ การเคลื่อนไหวและการกระทำของเราแต่ละขณะ เราจะสังเกตเห็นว่า ทุกๆ อย่าง เริ่มที่ ความคิด ก่อน เราจะเห็นเลยว่า ความทุกข์ของเราเริ่มที่ความคิดในใจเรา นี่เอง
3. ไม่มีอะไร อยู่ตลอดไป
สิ่งที่ธรรมชาติแสดงให้เราเห็น คือ ทุกอย่างมีขึ้นแล้วหายไป เปลี่ยนแปลง จะคงสภาพเดิมตลอดไป ไม่ได้ และไม่สามารถบังคับให้ถูกใจเราได้ เราจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อ ใจเรายืดออกไปยึดว่า อันนี้ของเรา เมื่อนั้นความทุกข์เกิดขึ้นทันที
เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเป็นทุกข์ เดือดร้อน ทุรนทุราย ลองมองลงไปที่ใจ จะเห็นว่าในใจเราขณะนั้น มีความยึด อยากบังคับ อยากฝืนธรรมชาติแอบแฝงอยู่
4. ก้อนหนามในกำมือ
เคยสังเกตไหม เวลาที่เรามีทุกข์หนักหนา เราจะรู้สึกว่าทุกข์เหลือเกิน ไม่รู้จะหยุดทุกข์ได้อย่างไร แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น โดนนินทา ถ้าเปรียบใจ เป็นมือ และความรู้สึกทุกข์เป็นก้อนหนามแหลม ใจเราไม่รู้ ก็จะกำก้อนหนามแหลมไว้เสียแน่น ยิ่งเจ็บ ยิ่งทุกข์ ไม่รู้จะช่วยตัวเองอย่างไร
5. วางใจให้ถูกต้อง
หลวงพ่อชา กล่าวว่า ไก่ ก็เป็นไก่ เป็ด ก็เป็น เป็ด เราอยากให้ไก่ เป็น เป็ด มันก็เป็นไม่ได้ ใจเรามันอยากฝืนธรรมชาติ มันก็ทุกข์ เท่านั้นเอง ไม้จะสั้น หรือ ยาว ก็อยู่ที่ใจเราเอง อยากได้ไม้ยาว มันก็สั้นไป อยากได้ไม้สั้น มันก็ยาวไป ไม้มันก็เป็นไม้อยู่อย่างนั้น แต่ใจเรานี่แหละ ที่คอยไปยุ่งกับมัน
6. ตัวปัญหาที่แท้จริง คือ กายกับใจ
เมื่อเราได้ฝึกการตามรู้จิตใจตัวเองดีแล้ว สิ่งที่เราจะต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ฝึก คือ ใจของคนทั่วๆ ไป จะ ปรุง-คิด-ทุกข์ แต่ใจที่ฝึกดีแล้ว จะเป็น ปรุง-คิด-รู้ หยุดความทุกข์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่มัน เริ่มคิด ชีวิตคนเรา อาจเลือกไม่ได้ให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต แต่เราสามารถเลือกที่จะทำหน้าที่ด้วยใจที่เป็นสุขปลอดโปร่งได้
หมายเหตุ ผมโพสต์เข้าไปใน Link ด้วยแล้ว แต่ดูเหมือนส่งมาไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะ ทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน นะครับ
ผมอ่านหนังสือของ คุณฐิตินาถทั้งหมด 4 เล่ม และดู DVD 1 เรื่อง ข้อความที่นำมานั้นเป็นบางส่วนในเล่มที่ 1
ลบต้นไฟ หน้า 26-29
มีดปักใจ หน้า 48-49
ไม่มีอะไร อยู่ตลอดไป หน้า 52-53
ก้อนหนามในกำมือ หน้า 54
วางใจให้ถูกต้อง หน้า 62- 63
ตัวปัญหาที่แท้จริง คือ กายกับใจ หน้า 74-75
คือที่นำมาเหมือนสรุป แต่ละอันให้ต่อกัน จากต้นเหตุ ไปยังจุดสุดท้าย
เนื่องจากความเห็นนี้ยาวโปรดอ่านได้ที่ http://rarearntoo.blogspot.com/2013/06/blog-post_23.html